คำว่าทำชั่วได้ชั่ว อาจทำให้บางท่านสงสัยว่า มีจริงเช่นนั้นหรือ บางคนทำชั่วมากมายแต่กลับไม่เห็นได้รับผลแห่งความชั่วนั้นเลย เห็นอยู่สุขสบายดีทุกอย่าง
ความจริงแล้วความชั่วที่เขาได้ทำนั้น ผลแห่งกรรมชั่วยังมาไม่ถึง เขายังอาศัยบุญเก่าที่ได้ทำเอาไว้อยู่ จึงยังเห็นว่าเขายังได้ดีมีสุขอยู่ ผลแห่งกรรมชั่วยังไม่ส่งผล ณ เวลานั้น
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบการทำชั่ว ดังการกู้หนี้ยืมสินมาจนล้นพ้นตัวแล้วไม่มีปัญญาหรือกำลังจะจ่ายคืน ย่อมเป็นทุกข์
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความยากจน และการกู้หนี้ เป็นความทุกข์ในโลก.
คนจนกู้หนี้มาเลี้ยงชีวิต ย่อมเดือดร้อน เพราะเจ้าหนี้ติดตามบ้าง เพราะถูกจับกุมบ้าง.
การถูกจับกุมนั้น เป็นความทุกข์ของผู้ได้กาม.
ถึงแม้ในอริยวินัยนี้ก็เหมือนกัน ผู้ใด ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
สั่งสมแต่บาปกรรม กระทำกายทุจริต-วจีทุจริต-มโนทุจริต
ปกปิดอยู่ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางจิต เพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้จักเขา ผู้นั้น พอกพูนบาปกรรมอยู่เนืองนิตย์ ในที่นั้นๆ.
คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน เสมือนคนยากจนกู้หนี้มาบริโภคอยู่ ย่อมเดือดร้อน.
ความตริตรึกที่เกิดจากวิปฏิสาร (ความร้อนใจ) อันเป็นเครื่องทรมานใจ ย่อมติดตามเขาทั้งในบ้านและในป่า.
คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน ไปสู่กำเนิดเดรัจฉานบางอย่าง หรือว่าถูกจองจำ อยู่ในนรก.
การถูกจองจำนั้นเป็นทุกข์ ชนิดที่ธีรชนไม่เคยประสบเลย… .”
ดังเช่นพระเทวทัตนั้นเองได้สั่งสมทั้งบุญและบาปเพื่อติดตามพระพุทธเจ้ามาโดยตลอด เทวทัตสั่งสมบุญมากมายเช่นกัน จึงได้เกิดมาเป็น เจ้าชายผู้สูงศักดิ์ มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย อีกทั้งรูปร่างหน้าตาดีสมฐานะทุกอย่าง
เทวทัตได้ดีมีสุขตลอดมา แม้จะก่อกรรมมากมายขณะที่บวชแล้ว คือได้เป็นถึงพระอาจารย์ของพระเจ้าอชาตศัตรู มีบริวารมากมาย มีคนหลงเชื่อคำพูดเยอะ ต้องการแข่งบารมีกับพระพุทธเจ้า
แต่เพราะกรรมที่เทวทัตทำสะสมมาในชีวิตนั้นหนักหนาเกินไป
1. เทวทัตผูกอาฆาต (ในชาติปัจจุบัน ตอนที่ยิงนกตกลงมาแล้วสิทธัตถะช่วยไว้ สุดท้ายนกเป็นของสิทธัตถะ)
2. เทวทัตหลงในโลกียฌาน เชื่อว่าตนเป็นผู้วิเศษมีอิทธิฤทธิ์
3. เทวทัตไปหลอกตบตาพระเจ้าอชาตศัตรูจนทำให้นับถือเป็นพระอาจารย์ และยังยุยงให้อชาตศัตรูฆ่าพ่อ (พระเจ้าพิมพิสาร) เพื่อชิงบัลลังก์
4. เทวทัตสั่งให้คนลอบสังหารพระพุทธเจ้า (แต่ไม่สำเร็จครั้งที่ 1)
5. เทวทัตใช้อำนาจในฐานะพระอาจารย์กษัตริิย์ สั่งให้คนมอมเหล้าช้างนาฬาคิรี 16 หม้อ จนช้างเมาอาละวาด แต่พระพุทธองค์ใช้เมตตาบารมีสยบได้
6. เทวทัตพยายามกลิ้งหินศิลาใส่พระพุทธเจ้าลงมาจากเขาคิชฎกูฎ หินแตกกระเด็นเป็นเศษก่อนทำร้ายพระพุทธองค์ได้ แต่พระพุทธองค์ก็โดนสะเก็ดหินนั้นทำให้พระบาทห้อเลือดไปหลายวัน
7. เทวทัตทำร้ายไม่สำเร็จจึงใช้วิธีทำสังฆเภท คือ ไม่ลงทำสังฆกรรม ไม่สวดปาฏิโมกข์ ลงอุโบสถร่วมกับสงฆ์ในสำนักใดๆ จะทำแต่แบบตัวเองเท่านั้น
กรรมชั่วที่หนักหนาเช่นนี้ สุดท้ายเทวทัตก็รับกรรม โดนธรณีสูบลงอเวจีไปในที่สุด
ทำชั่วนั้นได้ชั่วแน่นอนไม่มีเปลี่ยนแปลง
ส่วนจะรับผลนั้นเมื่อไหร่ กรรมทีทำไว้จะกำหนดให้เอง
โมทนาสาธุ ขอบคุณที่มา ธ.ธรรมรักษ์
ขอบุญรักษาทุกท่าน โปรดแชร์ต่อ เพื่อเป็นธรรมทาน.